กลิ่นหอมสดชื่นของดอกไม้นานาพันธุ์ ล้วนเกิดจากน้ำมันหยดเล็กๆ ที่พืชหลั่งออกมา เรียกว่า “น้ำมันหอมระเหย” (essential oil) พืชผลิตน้ำมันหอมระเหยด้วยเหตุผลต่างๆ กัน บ้างใช้เพื่อล่อแมลงให้มาผสมเกสรบ้างเพื่อป้องกันพวกกาฝากและสัตว์อื่นมารบกวน แม้ว่าโลกเราจะมีต้นไม้นับพันๆ ชนิด แต่มีเพียง 200 กว่าชนิดที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยได้ น้ำมันแต่ละชนิดมีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยต่างกัน ซึ่งอาจนำมาผสมกันจนเกิดเป็นน้ำมันหอมหลายร้อยชนิดได้
![](https://static.wixstatic.com/media/c77045_62b9af503d654a2baa498653a2874e31~mv2.jpg/v1/fill/w_397,h_434,al_c,q_80,enc_avif,quality_auto/c77045_62b9af503d654a2baa498653a2874e31~mv2.jpg)
อย่างไรก็ตาม น้ำมันหอมทุกชนิดมีองค์ประกอบสำคัญเพียง 3 ประการคือ “กลิ่นนำ” (top note) ซึ่งประกอบด้วยน้ำหอมที่ระเหยง่าย ส่งกลิ่นกระทบประสาทสัมผัสอย่างได้ผลในฉับพลัน ต่อมาคือ “กลิ่นตาม” (middle note) ซึ่งช่วยปรุงแต่งกลิ่นที่กระทบประสาทในตอนแรกนั้นอีกทีหนึ่ง กลิ่นนี้เป็น “เนื้อแท้” (perfume body) ของน้ำหอม และท้ายที่สุดคือ “กลิ่นหลัก” (base note) เป็นกลิ่นที่หอมทนทานประทับใจยาวนาน
![](https://static.wixstatic.com/media/c77045_63658038d6864e82be5b900fc6e188ec~mv2.jpg/v1/fill/w_945,h_626,al_c,q_85,enc_avif,quality_auto/c77045_63658038d6864e82be5b900fc6e188ec~mv2.jpg)
การสกัดน้ำมันหอมด้วยวิธีกลั่นไม่อาจนำมาใช้กับพืชได้ทุกชนิด เพราะความร้อนจะทำลายกลิ่นไม้หอมบางชนิดได้ ที่เมืองกราสส์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำหอมที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ยังคงสกัดกลิ่นหอมด้วยวิธีที่เรียกว่า “อองเฟลอราจ (enfleurage) คือนำดอกไม้ไปโรยไว้บนไขมันสัตว์หรือไขมันหมูที่บริสุทธิ์มาก แล้วจึงนำไปไว้ในห้องเย็นเป็นเวลา 1-3 วัน ให้ไขมันดูดซับน้ำมันหอมจากดอกไม้ ผลผลิตที่ได้เรียกว่า “โปมาด(Pomade)” จากนั้นจึงใส่แอลกอฮอล์เพื่อละลายไขมันที่ไม่ต้องการ ผลก็คือจะได้น้ำมันหอมในสารละลายแอลกอฮอล์พร้อมที่จะนำไปผสมทำน้ำหอมต่อไป แหล่งผลิตตามที่ต่างๆ มักผลิตหัวน้ำหอมได้ปีละไม่กี่ตัน ผู้ผลิตน้ำหอมจะนำน้ำมันหอมระเหยไปปรุงแต่งเป็นกลิ่นต่างๆด้วยวิธีการอันเป็นศิลปะที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน น้ำมันประเภทกลิ่นไม้ดอกมักผสมกลิ่นกุหลาบหรือกลิ่นดอกพุด (gardenia) เป็นสำคัญ ส่วนน้ำหอมประเภทกลิ่นอายตะวันออก กลิ่นสมุนไพรหรือกลิ่นเครื่องเทศมักผสมกลิ่นอบเชยจากจีน พม่า และศรีลังกา หรือลูกจันทน์เทศจากอินโดนีเซีย น้ำมันหอมหลังโกนหนวดมักมีกลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นไม้ และกลิ่นหนังสัตว์เป็นกลิ่นเด่น
ชมบทความฉบับอื่นๆได้ที่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Comentarios